My Template

ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน (มาตรา ๑๘ - ๔๐)

 

ส่วนที่ ๒
ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน

-------------------------

               มาตรา ๑๘  ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ซึ่งรัฐบาลต้องการเพื่อสร้างทางรถไฟนั้น ให้อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน กล่าวคือ การบังคับให้ขายตามข้อความดังกล่าวไว้ในส่วนที่ ๒ นี้

               มาตรา ๑๙  เมื่อได้ตกลงว่าจะสร้างทางรถไฟขึ้นแล้ว แต่ยังมิทันได้ตรวจวางแนวทางให้แน่นอน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินภายในที่ ๆ คิดว่าจะสร้างทางรถไฟขึ้นนั้นก่อน
               พระราชกฤษฎีกานั้นให้มีอายุใช้ได้สองปี หรือตามกำหนดเวลาที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อทำการตรวจวางแนวทางให้แน่นอนดังแจ้งไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น

               มาตรา ๒๐  ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระจัดการในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ

               มาตรา ๒๑  ภายในอายุเวลาตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินนั้น พนักงานรถไฟมีสิทธิเข้าไปกระทำกิจการในที่ดินของชนทั้งหลายตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อตรวจวางแนวทางให้แน่นอน เป็นต้นว่า วัดระยะ ปักกรุย เก็บตัวอย่างศิลา ทรายและวัตถุอื่น ๆ แต่ให้พึงเข้าใจว่าผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่ปกครองทรัพย์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิที่จะได้รับค่าทำขวัญ เพื่อทดแทนการเสียหายอันเกิดขึ้นจากการตรวจทำแผนที่สร้างทางรถไฟนั้น

               มาตรา ๒๒  เมื่อเจ้าพนักงานได้ตรวจและวางแนวทางรถไฟอันแน่นอนได้ตลอดทั้งสายหรือทำได้แต่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่ง เพื่ออนุญาตให้จัดซื้อที่ดิน ในพระราชกฤษฎีกานั้นให้ลงกระทงความดังนี้ คือ
               (๑) ความประสงค์ที่ให้จัดซื้อที่นั้นเพื่อเหตุการณ์ใด
               (๒) ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องประสงค์ให้จัดซื้อและตำบลเขตแขวงซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
               กับให้มีแผนที่หรือแผนผังแสดงเขตที่ดินที่ต้องการเพื่อสร้างทางรถไฟ และเขตที่ดินทุกรายที่อนุญาตให้จัดซื้อหมดทั้งแปลงหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ไว้ท้ายประกาศพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย

               มาตรา ๒๓  พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินนั้นให้ลงพิมพ์ประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๒๔  ให้ทำสำเนาพระราชกฤษฎีกาโดยมีเจ้าหน้าที่รับรอง กับแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น มอบส่งให้ไว้ ณ สถานที่เหล่านี้ คือ
               (๑) ที่ว่าการกรมรถไฟแผ่นดิน
               (๒) ศาลารัฐบาลมณฑล ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการในตำบลซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดซื้อนั้นตั้งอยู่
               (๓) หอทะเบียนที่ดินในมณฑลซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดซื้อนั้นตั้งอยู่

               มาตรา ๒๕  จำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดินในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังได้ระบุกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น ตกมาเป็นของกรมรถไฟแผ่นดินทันที แต่กรมรถไฟแผ่นดินจะมีสิทธิเข้าปกครองยึดถือทรัพย์นั้นได้ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินค่าทำขวัญแล้ว ตามความที่ท่านบัญญัติไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้
               อนึ่งตั้งแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกานั้นเป็นต้นไป ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีสิทธิในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น จำหน่ายหรือโอนสิทธิในทรัพย์ให้แก่บุคคลผู้อื่นด้วยประการใด ๆ บุคคลผู้รับโอนหรือรับช่วงนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทำขวัญเท่านั้น

               มาตรา ๒๖  เงินค่าทำขวัญนั้นท่านให้กำหนดให้แก่
               (๑) เจ้าของที่ดินที่ต้องจัดซื้อ
               (๒) เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ (กล่าวคือ สิ่งปลูกสร้างทุกอย่างถึงแม้ว่าจะทำด้วยไม้ แต่ต้องเป็นเสาไม้จริงหรือปลูกเป็นเสาก่อวางคาน) ซึ่งมีอยู่ในที่ดินนั้นในวันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินหรือว่าได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ
               (๓) ผู้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ซึ่งต้องจัดซื้อ แต่การเช่าถือนั้นต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และได้ทำไว้ก่อนวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน หรือได้ทำขึ้นภายหลังวันในประกาศนั้นโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ และการเช่าถือนั้นยังไม่สิ้นอายุไปก่อนวันหรือภายในวันที่กรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าปกครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น แต่เงินค่าทำขวัญในเรื่องเช่าถือดังว่ามานี้พึงกำหนดให้จำเพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง ๆ โดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างก่อนถึงวันกำหนดในสัญญาเช่านั้น
               (๔) เจ้าของต้นผลไม้หรือพืชพันธุ์ไม้ซึ่งอยู่ในที่ดินนั้นในวันที่ออประศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินหรือที่ปลูกขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ
               (๕) เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รื้อได้ซึ่งอยู่ในที่ดินนั้น ในวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน แต่เงินค่าทำขวัญในเรื่องนี้พึงกำหนดให้จำเพาะค่ารื้อขนและค่าที่จะต้องปลูกสร้างขึ้นใหม่

               มาตรา ๒๗  เมื่อต้องจัดซื้อสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้แต่ส่วนหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าของอาจร้องขอให้จัดซื้อส่วนที่ยังเหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้นั้นด้วย

               มาตรา ๒๘  เมื่อได้จัดซื้อที่ดินรายใดไว้ไม่หมดทั้งแปลง ทำให้เหลือเนื้อที่เป็นเศษอยู่ไม่ถึงส่วนหนึ่งในสามของจำนวนที่ดินนั้น และเศษที่เหลือนั้นมีน้อยกว่าหนึ่งร้อยตารางเมตร ผู้เป็นเจ้าของอาจร้องขอให้จัดซื้อที่ดินนั้นหมดทั้งแปลงได้ แต่ที่ที่เหลือนั้นต้องไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน

               มาตรา ๒๙  เงินค่าทำขวัญที่จะใช้เป็นค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้นั้น พึงกำหนดให้ตามราคาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายกันในตลาดในวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินและตามแต่พฤติการณ์พิเศษเป็นเรื่อง ๆ ไป
               เมื่อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ต้องจัดซื้อไว้แต่ส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นต้องลดน้อยถอยราคาลงไปแล้ว ก็ให้กำหนดค่าทำขวัญให้สำหรับส่วนที่เหลืออันต้องลดน้อยถอยราคาไปนั้นด้วย
               เมื่อผู้เป็นเจ้าของอาศัยอยู่ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันต้องจัดซื้อนั้นก็ดี หรือประกอบกิจการค้าขายโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่นั้นก็ดี ให้กำหนดค่าทำขวัญให้สำหรับการเสียหายโดยตรง ซึ่งผู้นั้นได้เสียไปในการที่ต้องออกจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย

               มาตรา ๓๐  เมื่อการสร้างทางรถไฟและเครื่องประกอบทางรถไฟกระทำให้ทรัพย์ซึ่งเหลือจากที่จัดซื้อนั้นมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษในขณะนั้น ท่านให้เอาจำนวนราคาทรัพย์ที่ได้ทวีราคาสูงขึ้นนี้หักทอนออกจากจำนวนเงินค่าทำขวัญ แต่ทั้งนี้อย่าให้ถือว่าราคาทรัพย์ที่ได้ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทำขวัญ เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์กลับต้องใช้เงินให้อีกเลย

               มาตรา ๓๑  ห้ามมิให้คิดค่าทำขวัญให้สำหรับราคาที่ได้ทวีสูงขึ้นในทรัพย์เหล่านี้ คือ
               (๑) สิ่งปลูกสร้าง หรือเพิ่มเติม หรือการเพาะปลูก หรือการกระทำให้ที่เจริญขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการเช่าถือซึ่งได้กระทำขึ้นภายหลังวันในประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินโดยมิได้รับอนุญาตพิเศษจากผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน (ยกเว้นแต่การทำนา หรือทำสวน ที่จัดทำอยู่ตามปกติ)
               (๒) สิ่งปลูกสร้าง หรือเพิ่มเติม หรือการเพาะปลูก หรือการกระทำให้ที่เจริญขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการเช่าถือซึ่งปรากฏว่าได้กระทำให้มีขึ้นก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินโดยกลอุบายฉ้อเพื่อประสงค์จะได้รับเงินค่าทำขวัญเท่านั้น

               มาตรา ๓๒  ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือน นับจำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดิน เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอจะโปรดเกล้าฯ ให้มีกรรมการจัดซื้อที่ดินสามคน ๆ หนึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกรมรถไฟแผ่นดิน อีกสองคน เป็นเจ้าพนักงานในกระทวงซึ่งปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานในกระทรวงเกษตราธิการ หรือเจ้าพนักงานในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตามแต่จะเห็นเป็นการสมควร
               หน้าที่ของกรรมการจัดซื้อที่ดินนั้น คือ ตรวจดูที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องจัดซื้อ และพยายามไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ
               นามกรรมการจัดซื้อที่ดินและตำบลท้องที่ซึ่งกรรมการจะต้องออกไปกระทำการตามหน้าที่นั้น ให้ลงประกาศระบุในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๓๓  ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่นำข้อความในพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินออกโฆษณาให้ราษฎรในท้องที่ซึ่งให้จัดซื้อที่ดินนั้นทราบโดยปิดประกาศแจ้งความไว้ ณ ที่ว่าการ และโดยวิธีหนึ่งวิธีใดตามที่มีอำนาจจะโฆษณาการให้ทราบได้
               เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่นั้นพึงแจ้งความให้ทราบทั่วกันว่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะอ้างว่าตนมีสิทธิ หรือผลประโยชน์ในที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดการซื้อนั้นแล้ว ให้ผู้นั้นร้องขอต่อกรรมการจัดซื้อที่ดินภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันที่ได้ประกาศแจ้งความให้ทราบนั้น

               มาตรา ๓๔  กรรมการจัดซื้อที่ดินมีหน้าที่ต้องตรวจพิจารณาคำร้องที่มีผู้ร้องขอไว้ด้วยวาจา หรือที่ยื่นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามข้อความในมาตราก่อนนี้
               ถ้ามีข้อโต้เถียงไม่ตกลงกันในเรื่องรรมสิทธิ์ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินพยายามที่จะไกล่เกลี่ยให้ปรองดองตกลงกันได้
               เมื่อได้พิจารณาคำร้องตลอดแล้ว ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินรวบรวมถ้อยคำสำนวนที่ร้องขอกรรมสิทธิ์ หรือร้องขออย่างอื่นซึ่งจะได้รับค่าทำขวัญนั้นเข้าไว้เป็นเรื่อง และแบ่งแยกให้รู้ว่าเป็นคำร้องที่ไม่มีข้อโต้เถียงประเภทหนึ่ง และเป็นคำร้องที่ยังมีข้อโต้เถียงอีกประเภทหนึ่ง

               มาตรา ๓๕  กรรมการจัดซื้อที่ดินพึงกระทำความตกลงกับผู้เป็นเจ้าของสิทธิที่ไม่มีข้อโต้เถียงดังกล่าวมานั้น และพยายามไกล่เกลี่ยให้ปรองดองตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญที่จะใช้ให้นั้น
               (๑) ถ้าตกลงกันได้ก็ให้จดข้อที่ตกลงสัญญานั้นลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้ลงนามกรรมการจัดซื้อที่ดินกับผู้เป็นเจ้าของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าพยานคนหนึ่ง เมื่อได้ใช้เงินค่าทำขวัญตามที่ตกลงกันนั้นแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้ายึดถือปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้
               (๒) ถ้าไม่ตกลงกัน ให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งความแก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเด็ดขาดครั้งที่สุดว่าจะให้ราคาแก่ฝ่ายนั้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด ถ้าฝ่ายนั้นไม่ทำคำรับภายในกำหนดเวลาสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้นแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนสำหรับชี้ขาดในเรื่องราคา และถ้าอนุญาโตตุลาการนั้นมีความเห็นก้ำกึ่งไม่ตกลงกัน ก็ให้อนุญาโตตุลาการนั้นเลือกผู้เป็นประธานขึ้นคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้ชี้ขาดหรือจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้เลือกตั้งผู้เป็นประธานชี้ขาดก็ได้ ตามบทในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น

               มาตรา ๓๖  เมื่อบุคคลซึ่งต้องตามบทสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทำขวัญในฐานที่เป็นเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นหาตัวไม่พบ ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินกำหนดจำนวนเงินค่าทำขวัญให้ตามราคาที่เห็นสมควร และวางเงินเท่าจำนวนนั้นต่อศาล เมื่อได้วางเงินดังว่านี้แล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้
               ถ้าภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับตั้งแต่วันที่วางเงิน ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์มาอ้างว่ามีสิทธิในทรัพย์นั้น และไม่ยอมรับเอาราคาตามที่กรรมการจัดซื้อที่ดินได้กำหนดไว้ ก็ให้กรมรถไฟแผ่นดินและผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์เลือกตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาด ตามข้อความดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนนี้
               เมื่อพ้นกำหนดเวลาหกเดือนนั้นแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์จะร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ นอกจากจะขอรับเงินค่าทำขวัญที่ได้วางไว้ต่อศาลดังกล่าวแล้วเป็นการใช้หนี้กันเสร็จ

               มาตรา ๓๗  ในเวลาก่อนที่ได้ใช้ค่าทำ ขวัญให้แก่ผู้ที่ควรได้รับหรือก่อนสิ้นกำหนดเวลาหกเดือนดังกล่าวมาในมาตราก่อน ถ้ามีข้อโต้เถียงกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์ที่ต้องจัดซื้อนั้น หรือด้วยเรื่องเงินค่าทำขวัญว่าจะจ่าย หรือจะแบ่งปันกันประการใดก็ดี ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินหรือกรมรถไฟแผ่นดินสุดแล้วแต่เรื่อง พยายามไกล่เกลี่ยผู้ที่พิพาททุกฝ่ายให้ปรองดองตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ
               (๑) ถ้าตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ ให้นำเงินเท่าจำนวนที่ตกลงนั้นวางต่อศาลหลวง เมื่อได้วางเงินดังนี้แล้ว ให้กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้าปกครองทรัพย์นั้นได้
               (๒) ถ้าไม่ตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ ให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งแก่ผู้พิพาทนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเด็ดขาดครั้งที่สุดว่าจะให้ราคาเป็นจำนวนเงินเท่าใด ถ้าผู้พิพาทไม่ยอมรับเอาราคานี้ภายในกำหนดเวลาสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้นแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินกับผู้พิพาทมีสิทธิที่จะเลือกตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคน และถ้าอนุญาโตตุลาการทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ปรองดองตกลงกันได้ให้อนุญาโตตุลาการนั้นเลือกตั้งผู้เป็นประธานคนหนึ่งเป็นผู้ชี้ขาด หรืออนุญาโตตุลาการนั้นจะร้องขอต่อศาลให้เลือกตั้งผู้เป็นประธานเพื่อชี้ขาดก็ได้ ตามบทแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น
               ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นภายหลังเวลาที่กรมรถไฟได้ใช้เงินค่าทำขวัญแก่ผู้ที่ควรได้รับนั้นแล้วก็ดี หรือภายหลังกำหนดเวลาหกเดือนดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนนี้ก็ดี ท่านว่าผู้พิพาทนั้นจะฟ้องร้องได้แต่เฉพาะบุคคลผู้ซึ่งได้รับเงินค่าทำขวัญนั้นไป หรือผู้ที่ต้องชื่อระบุให้เป็นผู้รับเงินค่าทำขวัญตามที่วางไว้ต่อศาลเท่านั้น

               มาตรา ๓๘  ถ้าว่าจำนวนเงินค่าทำขวัญจะต้องกำหนดโดยการตั้งอนุญาโตตุลาการ ในเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งอนุญาตให้กรมรถไฟแผ่นดินเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้ แต่ท่านว่าในการเช่นนี้ ให้กรมรถไฟแผ่นดินวางเงินตามจำนวนที่ศาลจะเห็นว่าพอเพียง เพื่อใช้ค่าทำขวัญนั้นก่อน

               มาตรา ๓๙  ถ้าว่าผู้ที่ควรจะได้เงินค่าทำขวัญไม่ยอมรับเงินค่าทำขวัญตามข้อตกลงสัญญาหรือตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้นำจำนวนเงินค่าทำขวัญนั้นมาวางต่อศาลครบถ้วนแล้ว ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินย่อมมีสิทธิที่จะเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นได้

               มาตรา ๔๐  ถ้าว่าผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไม่ยอมให้กรมรถไฟแผ่นดินเข้าปกครองทรัพย์เหล่านั้นตามสิทธิที่ได้ให้ไว้โดยพระราชบัญญัตินี้ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอ ท่านว่าศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งบังคับขับไล่บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่นั้นออกจากที่ได้ทันที แต่ข้อนี้ไม่ขัดขวางต่อการที่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่นั้นจะฟ้องร้องว่ากล่าวต่อภายหลัง