ส่วนที่ ๔
ว่าด้วยการบรรทุกส่ง
-------------------------
มาตรา ๕๐ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบ ในการที่ผู้โดยสารต้องบาดเจ็บเสียหายก็ดี หรือว่าครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้า ซึ่งรับบรรทุกนั้นแตกหักสูญหายก็ดี หรือว่าการบรรทุกส่งนั้นช้าไปก็ดี ท่านให้บังคับตามพระราชกำหนดกฎหมายส่วนแพ่ง ว่าด้วยการบรรทุกส่ง เว้นไว้แต่จะต้องด้วยบทมาตราดังจะกล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ จึงให้ใช้บทมาตรานั้น ๆ บังคับ
มาตรา ๕๑ กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าซึ่งบรรทุกส่งไป หรือมอบฝากไว้กับรถไฟนั้น แตกหักบุบสลายหรือว่าสูญหายไป เว้นไว้แต่พนักงานรถไฟจะได้รับของนั้นลงบัญชีประกันและได้ออกใบรับให้ไปเป็นสำคัญ
มาตรา ๕๒ เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนำห่อวัตถุหรือสินค้ามา เพื่อบรรทุกส่งไปโดยทางรถไฟ พนักงานรถไฟผู้มีหน้าที่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าของหรือผู้ส่งของนั้นจดรายการละเอียดบอกจำนวนของน้ำหนัก และชนิดห่อวัตถุ หรือสินค้าที่นำมาส่งนั้นเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ลงชื่อกำกับไว้ด้วย ถ้าแม้ว่าไม่ยอมทำตามดังว่ามานี้ พนักงานรถไฟอาจปฏิเสธไม่ยอมรับไว้บรรทุกก็ได้
ผู้หนึ่งผู้ใดจงใจแสดงรายการสิ่งของอันเป็นความเท็จ ท่านว่ามีความผิดให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท
มาตรา ๕๓ กรมรถไฟแผ่นดินต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหาย ในการที่ครุภาระ ห่อวัตถุหรือสินค้าซึ่งได้รับจดลงบัญชีประกันนั้นเป็นอันตรายสูญหาย หรือว่าส่งเนิ่นช้าไป เว้นไว้แต่จะพิสูจน์ได้ว่าการที่สูญ หรือเสียหาย หรือเนิ่นช้านั้นเป็นด้วยพลาติศัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งวัตถุนั้นเอง หรือเป็นด้วยการชำรุดที่มัดห่อวัตถุนั้น ๆ
มาตรา ๕๔ ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องการพาสัมภาระ ห่อวัตถุหรือสินค้าไปกับตัวก็ดี หรือว่ามอบส่งให้บรรทุกไปก็ดี หรือว่าฝากไว้ก็ดี แต่วัตถุเหล่านั้นเป็นของที่อันตรายหรือที่อุจาดลามกแล้ว บุคคลผู้นั้นต้องแจ้งความบอกสภาพแห่งวัตถุนั้นแก่นายสถานีเป็นลายลักษณ์อักษร นายสถานีมีอำนาจที่จะไม่ยอมรับฝากหรือรับส่งบรรทุกวัตถุนั้นก็ได้ตามแต่จะเห็นเป็นการสมควร
ถ้าว่าไม่ได้แจ้งความให้ทราบดังว่ามานั้นก็ดี หรือว่าไม่ได้ขีดหมายบอกสภาพแห่งวัตถุนั้น ๆ ไว้นอกห่อให้เห็นโดยแจ้งชัดก็ดี ท่านว่าพนักงานรถไฟคนใดคนหนึ่งย่อมมีอำนาจที่จะงดส่งวัตถุนั้นเสียได้
ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าห่อใดห่อหนึ่งมีของที่เป็นอันตรายหรือที่อุจาดลามก ท่านว่าพนักงานรถไฟคนใดคนหนึ่งมีอำนาจที่จะเปิดห่อของนั้นออกตรวจดู เพื่อให้รู้ว่ามีของสิ่งใดอยู่ในห่อนั้นได้
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไม่แจ้งความให้พนักงานรถไฟทราบ หรือไม่ยอมทำตามคำสั่งของพนักงานรถไฟ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทมาตรานี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท และถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นแต่วัตถุนั้นไซร้ ผู้นั้นยังจำต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นอีกโสดหนึ่งต่างหาก
มาตรา ๕๕๑ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าครุภาระ ห่อวัตถุหรือสินค้าอันได้จดลงบัญชีประกันบรรทุกส่งไป หรือฝากไว้เป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดดังนี้ คือ ห่อหนึ่งเป็นเงินไม่เกิน ๑๐๐ บาท ถ้าว่าเหมาบรรทุกครึ่งคันรถไม่เกิน ๔๐๐ บาท และถ้าว่าเหมาบรรทุกทั้งคันรถไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท เว้นไว้แต่
(๑) ผู้ส่งหรือผู้ฝากจะได้แจ้งจำนวนราคาและบอกสภาพแห่งของที่มีอยู่ในห่อหรือแห่งสินค้าที่ว่าเหมาบรรทุกครึ่งคันรถ หรือเต็มทั้งคันรถนั้น และ
(๒) ผู้ส่งหรือผู้ฝากได้เสียค่าประกันพิเศษเพิ่มขึ้น ตามอัตราค่าประกันให้แก่พนักงานรถไฟผู้มีหน้าที่ พนักงานผู้นั้นมีสิทธิที่จะสอบสวนตรวจตราเพื่อให้รู้แน่ว่าของหรือสินค้าที่ส่งไปนั้นตรงกันจริงกับคำที่ได้แจ้งไว้นั้นหรือไม่
มาตรา ๕๖ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ราคาสัตว์ที่บรรทุกส่งไปเป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดดังนี้ คือ
ค่าช้างเชือกหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท
ค่าม้าตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๐๐ บาท
ค่าลา ล่อ หรือปศุสัตว์ชนิดที่มีเขาตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐ บาท
ค่าแพะ แกะ สุกร สุนัข หรือสัตว์ชนิดอื่นตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๒๐ บาท
เว้นไว้แต่ผู้ส่งจะได้แจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบในขณะที่นำมาส่งนั้นว่ามีราคาสูงกว่าอัตราที่วางไว้ข้างบนนี้ และทั้งได้เสียค่าประกันพิเศเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าประกันนั้นด้วย
แต่ทั้งนี้ถ้าว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นอันตรายหรือสูญหายไปด้วยเหตุอื่น นอกจากที่เป็นความผิดของพนักงานรถไฟแล้ว ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบเลย
มาตรา ๕๗ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่ารถ ล้อเลื่อนที่บรรทุกส่งไปเป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดดังนี้ คือ
ค่ารถจักรสำหรับลากหรือรถยนต์คันหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท
ค่ารถ เกวียน หรือรถบรรทุกของคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๒๕๐ บาท
ค่ารถจักรยานยนต์สองล้อหรือสามล้อคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐ บาท
ค่ารถ ล้อเลื่อนอย่างอื่นคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๐ บาท
เว้นไว้แต่ผู้ส่งจะได้แจ้งความให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะที่นำมาส่งยังรถไฟนั้นว่ารถ ล้อเลื่อนนั้นมีราคาสูงกว่าอัตราที่ได้วางไว้ข้างบนนี้ และทั้งได้เสียค่าประกันพิเศษเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าประกันนั้นด้วย
มาตรา ๕๘ เมื่อใดกรมรถไฟแผ่นดินจะต้องใช้ราคาของที่ได้สูญหรือเสียหายไปโดยที่ผู้ส่งของได้ระบุแจ้งราคาไว้แล้ว ท่านให้ถือว่า การที่ระบุแจ้งราคาไว้นั้นเป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานว่าของสิ่งนั้นคงมีราคาตามที่ได้ระบุแจ้งไว้นั้นจริง แต่ทั้งนี้ห้ามมิให้คิดค่าเสียหายให้เกินกว่ากำหนดราคาตามที่ได้ระบุแจ้งไว้นั้นเลย
มาตรา ๕๙ ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายนั้น ท่านว่าสิ้นอายุหมดลงตามกำหนดวัดังนี้ คือ
ถ้าเป็นครุภาระ หรือห่อวัตถุ เมื่อครบกำหนดสองวัน นับแต่วันรุ่งขึ้นจากวันที่ของได้มาถึงสถานีที่ได้จัดส่งไปนั้น
ถ้าเป็นสินค้า เมื่อครบกำหนดสองวันนับแต่วันรุ่งขึ้นจากวันที่กรมรถไฟแผ่นดินจะได้แจ้งความให้ผู้ที่จะรับของนั้นทราบ
ถ้าว่าไม่มีผู้ใดมารับครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนี้ ท่านให้เก็บของเหล่านี้รักษาไว้ในคลังสินค้า แต่กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ของเป็นอันตราย หรือสูญหายไป เว้นไว้แต่จะเป็นเพราะความผิดของกรมรถไฟแผ่นดิน หรือเป็นเพราะความผิดของพนักงานในกรมนั้น
มาตรา ๖๐ เมื่อผู้ที่จะรับของนั้นได้รับของที่บรรทุกนั้นไว้ โดยไม่มีข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะที่รับของนั้นแล้ว ท่านว่าจะเรียกร้องขอค่าเสียหายที่ของสูญหรือเสียไป หรือที่บรรทุกส่งเนิ่นช้าไปนั้นมิได้เลย
มาตรา ๖๑ ข้อความที่เขียนไว้ในใบรับของ ใบส่งของ หรือใบสำคัญอย่างอื่นที่กรมรถไฟแผ่นดินทำให้แก่ผู้ส่งของ เพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบของกรมรถไฟแผ่นดินนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย เว้นไว้แต่ผู้ส่งของนั้นจะได้ตกลงยินยอมตามข้อความที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบนั้นโดยแจ้งชัด
มาตรา ๖๒ กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะยึดของที่บรรทุกนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับใช้ค่าระวางบรรทุกและค่าที่ต้องใช้อย่างอื่นให้ครบถ้วน
มาตรา ๖๓ ถ้าหาตัวผู้ที่จะรับของนั้นไม่พบ กรมรถไฟแผ่นดินต้องแจ้งความไปให้ผู้ส่งของนั้นทราบโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ เพื่อขอให้บอกมาว่าจะให้จัดส่งของนั้น ณ ที่ใด และขอให้จัดการใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องเสียอย่างอื่นภายในกำหนดเวลา ๑๕ วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น
ถ้าผู้ส่งของละเลยไม่ทำตามคำแจ้งความนั้นไซร้ ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดได้
มาตรา ๖๔ ถ้าว่าผู้ที่จะรับของไม่มารับของที่บรรทุกนั้นไป หรือไม่ใช้ค่าระวางบรรทุกและค่าที่ต้องเสียอย่างอื่นที่จำเป็นต้องใช้นั้น กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะแจ้งความไปยังผู้ที่จะรับของนั้นโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ขอให้ใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องใช้อย่างอื่น และให้มารับของนั้นไปภายในเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้น
ในเวลาเดียวกันนั้นให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งความบอกไปยังผู้ส่งของโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ด้วย
ถ้าผู้ที่จะรับหรือผู้ส่งของละเลยไม่ทำตามคำแจ้งความนั้นไซร้ ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินย่อมมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดได้
มาตรา ๖๕ ตามข้อความที่บังคับไว้ในสองมาตราข้างบนนี้ ถ้าของที่บรรทุกนั้นเป็นของที่เก็บไว้นานไม่ได้อาจเสียไปแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดโดยไม่ต้องแจ้งความให้ผู้หนึ่งผู้ใดทราบก่อนก็ได้
ส่วนของที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้แจ้งความบอกให้ทราบว่าของได้มาถึงแล้วล่วงพ้นไป ๗ วัน ให้เอาของออกขายทอดตลาดได้
มาตรา ๖๖ เมื่อได้เอาของออกขายทอดตลาด หักค่าใช้จ่ายในการขายออกแล้วเหลือเงินเป็นจำนวนเท่าใด ให้กรมรถไฟแผ่นดินหักใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องใช้อย่างอื่นอันเกี่ยวกับสัญญาบรรทุกส่งนั้น ถ้ามีเงินเหลืออยู่อีก จึงให้มอบให้แก่ผู้ที่สมควรจะได้รับนั้นไป
มาตรา ๖๗ เงินค่าโดยสารหรือค่าระวางบรรทุกที่ได้ใช้ให้เป็นค่าโดยสารหรือค่าส่งครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสิค้านั้น ให้พึงสันนิษฐานว่ากรมรถไฟแผ่ดินได้รับไว้โดยมีข้อไขว่า ถ้ามีที่สำหรับให้โดยสารหรือบรรทุกได้ในขบวนรถนั้น
ถ้าหากว่าในรถไฟไม่มีที่พอสำหรับผู้โดยสารทั้งหมด หรือสำหรับบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าทั้งหมด ท่านว่าผู้โดยสารที่ได้ซื้อตั๋วไปทางไกลที่สุดมีสิทธิที่จะได้โดยสารไปก่อนผู้อื่น และถ้ามีผู้โดยสารซื้อตั๋วไปทางไกลเท่ากันหลายคน ผู้ที่ซื้อตั๋วได้ก่อนก็ควรได้ไปก่อนตามลำดับเลขที่ได้รับตั๋วก่อนและหลังนั้น ข้อบังคับนี้ให้ใช้ได้ตลอดไปถึงการรับบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุ และสินค้าด้วย
แต่ทั้งนี้ท่านว่านายและพลทหารและข้าราชการพลเรือนที่โดยสารไปในหน้าที่ราชการของรัฐบาลนั้น ควรจะได้รับเลือกให้ไปได้ก่อนผู้อื่น
มาตรา ๖๘๒ ผู้หนึ่งผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอเงินค่าโดยสาร ค่าบรรทุก หรือค่ารับฝากครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าที่อ้างว่าได้เสียเกินอัตรานั้นคืน เว้นไว้แต่จะได้ยื่นคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรขอเงินที่เกินคืนจากกรมรถไฟแผ่นดินภายในกำหนด ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้ออกตั๋วโดยสารหรือวันที่มอบส่งของนั้น ๆ
มาตรา ๖๙ กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะรับส่งจดหมาย หรือห่อวัตถุสำหรับกิจการของรถไฟ หรือจดหมายบัญชีของ หรือใบรับสำหรับลูกค้ารถไฟ
มาตรา ๗๐ ใบเบิกทางซึ่งออกให้ผู้หนึ่งผู้ใดโดยสารรถไฟโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารตลอดกาลหรือชั่วเที่ยวหนึ่งเป็นพิเศษนั้น ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินหรือผู้แทนจะต้องลงชื่อกำกับไว้จึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นอย่าให้ถือว่าใบเบิกทางนั้นใช้ได้เลย
๑ มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔
๒ มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๓