My Template

ส่วนที่ ๕ ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน (มาตรา ๗๑ - ๙๔)

 

ส่วนที่ ๕
ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน

-------------------------

               มาตรา ๗๑  เมื่อเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อรักษาความปราศภัยแห่งประชาชน ให้ขุดคูหรือปลูกต้นไม้เป็นรั้ว หรือกั้นรั้ว หรือขึงลวดกั้นทั้งสองข้างทางรถไฟ

               มาตรา ๗๒  เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้วางรางคู่กำกับเพื่อให้มีช่องพอครีบล้อรถผ่านไปมาได้ กับให้ทำประตู หรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้น ๆ ตามเห็นสมควรแก่การ

               มาตรา ๗๓  เมื่อถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สู้สำคัญพอถึงกับต้องทำประตูกั้นแล้ว ให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวีดก่อนที่รถจะผ่านข้ามถนนนั้น กับให้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักไว้ให้เห็นแจ้งบนทางและถนนนั้น เพื่อให้พนักงานขับรถจักรและประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน

               มาตรา ๗๔  ภายในระยะสี่เมตรวัดจากศูนย์กลางทางรถไฟออกมา ห้ามมิให้ปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด เว้นไว้แต่จะเป็นการจำเป็นเพื่อการเดินรถ

               มาตรา ๗๕  ผู้เป็นเจ้าของต้นไม้รั้วหรือต้นไม้ชนิดอื่นที่อยู่ริมเขตทางรถไฟมีหน้าที่จำต้องตัดหรือรานกิ่งไม้หรือโค่นต้นไม้นั้นลงเป็นครั้งคราว ตามแต่นายช่างบำรุงทางในเขตนั้นจะสั่ง เพื่อมิให้กีดกั้นกำบังเครื่องอาณัติสัญญาณตามทาง หรือเพื่อมิให้เกิดอันตรายขัดขวางต่อการเดินรถ
               ถ้าผู้เป็นเจ้าของต้นไม้คนใดไม่ปฏิบัติการตามคำสั่งของนายช่างบำรุงทางดังว่ามานี้ นายช่างบำรุงทางมีอำนาจที่จะจัดการให้ตัดรานกิ่งหรือโค่นต้นไม้นั้นเสีย แล้วคิดเอาเงินค่าใช้จ่ายในการนี้แก่เจ้าของนั้นก็ได้

               มาตรา ๗๖  ในขบวนรถโดยสารทุกขบวนที่ต้องเดินเกินกว่า ๒๐ กิโลเมตร โดยไม่หยุดนั้น กรมรถไฟแผ่นดินต้องจัดให้มีเครื่องอาณัติสัญญาณติดประจำไว้เพื่อใช้บอกเหตุได้ในระหว่างคนโดยสารกับพนักงานกำกับรถ เครื่องอาณัติสัญญาณนี้ต้องรักษาไว้ให้ใช้ได้ดีตลอดไปด้วย

               มาตรา ๗๗  ถ้าปรากฏว่าผู้โดยสารคนหนึ่งคนใดเป็นโรคติดต่อซึ่งอาจมีจำแนกไว้ในกฎข้อบังคับ ให้นายสถานีจัดแยกผู้นั้นกันไว้เสียห้องหนึ่งเป็นพิเศษเพื่อมิให้ปะปนกับผู้อื่น แล้วโทรเลขบอกไปยังสถานีที่ผู้นั้นจะลงและสถานีปลายทาง เพื่อกำชับห้ามมิให้ผู้โดยสารอื่นเข้าไปในห้องนั้นจนกว่าจะได้จัดชำระล้างเชื้อโรคให้หมดสิ้นเมื่อรถไปถึง

               มาตรา ๗๘  ผู้ใดกระทำผิดดังกล่าวไว้ในมาตรา ๗๙ จนถึงและรวมทั้งมาตรา ๘๙ ให้ลงโทษฐานลหุโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เว้นไว้แต่การกระทำเช่นนั้นประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แล้ว

               มาตรา ๗๙  ผู้ใดกระทำการโดยเจตนาขัดขวางพนักงานรถไฟในเวลาทำการตามหน้าที่ก็ดี หรือทำการขัดขวางผู้มีหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายในการสอบวัด ก่อสร้างหรือบำรุงทางรถไฟก็ดี หรือถอนหมุดหรือหลักที่ปักไว้ในดิน เพื่อกิจการดังว่านั้นก็ดี หรือลบเลือนทำลายเครื่องหมายใด ๆ ที่ทำไว้สำหรับกิจการนั้น ๆ ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒

               มาตรา ๘๐  ผู้ใดมิได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย บังอาจขุดขนดิน ทราย ศิลา หญ้า ต้นไม้หรือสิ่งใด ๆ ไปจากมูลดิน คู สะพาน ทางระบายน้ำ กำแพงเขื่อน หรือทางถาวรของรถไฟหรือภายในบริเวณรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓

               มาตรา ๘๑  ผู้ใดรื้อถอน ทำลาย เคลื่อนเอาไปจากที่หรือทำให้เป็นอันตรายเสียหายแก่รั้วต้นไม้ รั้วกั้นเขต รั้วลวด เสาเครื่องหมายอาณัติสัญญาณ เครื่องจักร วัตถุอัดหมอน รางเหล็ก หมอนหรือสิ่งของชนิดใด ๆ ที่เก็บรักษาไว้ใช้ตามทางรถไฟนั้น ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒

               มาตรา ๘๒  ผู้ใดมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายบังอาจเปลี่ยนทางน้ำ หรือรางน้ำด้วยเจตนา หรือทำทำนบกั้นคูหรือทางระบายน้ำใต้สะพาน หรือปล่อยขยะมูลฝอยสิ่งโสโครกจากที่ทำการเหมืองแร่ให้ไหลมากีดขวาง หรือทำการอย่างอื่นให้กีดขวางแก่ทางน้ำ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดเสียหายแก่ทางรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓

               มาตรา ๘๓  เมื่อเจ้าของที่ดินหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินคนใดประสงค์จะตัดโค่นต้นไม้ หรือแผ้วถางป่าที่ติดต่อกับทางรถไฟก็ดี หรือที่มีสายโทรเลข โทรศัพท์ขึงผ่านข้ามไปก็ดี ผู้นั้นต้องแจ้งความประสงค์นั้นให้นายช่างบำรุงทางประจำเขตนั้นทราบล่วงหน้าก่อน ๗ วัน และผู้นั้นจำต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรในเมื่อทำการนั้น ๆ ตามแต่นายช่างบำรุงทางจะสั่ง เพื่อรักษาทางรถไฟมิให้เป็นอันตราย
               ผู้ใดมิได้แจ้งความให้นายช่างบำรุงทางทราบล่วงหน้าก็ดี หรือมิได้ปฏิบัติการตามคำสั่งของนายช่างบำรุงทางก็ดี โค่นต้นไม้ลงหรือถางป่าอันเป็นเหตุที่อาจเกิดอันตรายแก่รถไฟที่ผ่านไปมา หรืออาจทำให้เกิดเสียหายต่อสายโทรเลข โทรศัพท์ เครื่องอาณัติสัญญาณ หรือทาง ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓

               มาตรา ๘๔  ผู้ใดบังอาจเข้าไปในที่ดินรถไฟ นอกเขตที่ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าออกได้ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑

               มาตรา ๘๕  ผู้ใดขับรถ หรือล้อเลื่อนอย่างอื่น หรือไล่ต้อนสัตว์ข้าม หรือไปตามทางรถไฟ เว้นไว้แต่ตามเวลาและที่ที่กำหนดให้ไว้ก็ดี หรือไม่ปฏิบัติการตามคำสั่งอันสมควรของพนักงานรถไฟก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑
               ผู้ใดมีหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงรักษาปศุสัตว์ ปล่อยให้สัตว์เทียวไปในที่ดินรถไฟ ให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่าตัวละ ๒ บาท
               พนักงานรถไฟมีอำนาจนำหรือไล่ต้อนสัตว์นั้นไปยังโรงพักตำรวจที่ใกล้ที่สุด แล้วมอบให้รักษาไว้จนกว่าจะได้รับเงินค่าปรับและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรักษานั้นได้

               มาตรา ๘๖  ผู้ใดขว้างปาท่อนไม้ ก้อนศิลาหรือสิ่งอื่น ๆ ไปที่ขบวนรถไฟก็ดี หรือผ่านข้ามไปก็ดี หรือขว้างปาจากรถไฟก็ดี ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในรถจักร รถลำเลียง รถคนโดยสารหรือรถบรรทุก หรือต่อผู้ยืนอยู่หรือเดินไปมาตามทางรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๔

               มาตรา ๘๗  ผู้ใดทำให้รถ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือสิ่งใด ๆ อันเป็นทรัพย์สมบัติของรถไฟเสียหายหรือชำรุด ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑

               มาตรา ๘๘  พนักงานรถไฟคนใดเสพสุราจนมึนเมาในเวลาทำการตามหน้าที่บนรถไฟหรือทำกิจการอื่นของรถไฟก็ดี หรือละเลยไม่ทำการตามหน้าที่โดยความประมาทก็ดี หรือกระทำการนั้นด้วยอาการอันไม่สมควรก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
               ถ้ากิจการดังว่ามานี้ เมื่อละเลยเสียไม่กระทำ หรือกระทำโดยความประมาทอาจเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่ผู้โดยสารหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๔
               ถ้าว่าเป็นด้วยความประมาทอย่างอุกฤษฐ์ จนเกิดอุบัติเหตุทำให้บุคคลตายหรือบาดเจ็บ ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๕๒ หรือมาตรา ๒๕๙

               มาตรา ๘๙ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับซึ่งผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินตั้งขึ้นไว้ในข้อต่อไปนี้ คือ
               (๑) ว่าด้วยการขึ้นรถหรือเข้าไปในสถานีต้องมีตั๋วหรือใบเบิกทางให้โดยสารได้เที่ยวใดหรือในห้องใดและชั้นใด
               (๒) ว่าด้วยการโอนตั๋วหรือใบเบิกทางให้ผู้อื่นโดยมิชอบ
               (๓) ว่าด้วยการส่งตั๋วหรือใบเบิกทางให้ตรวจหรือส่งมอบให้แก่พนักงานรถไฟ การเปลี่ยนแปลงขูดแก้ตั๋วหรือใบเบิกทางโดยเจตนา
               (๔) ว่าด้วยการพาอาวุธปืนหรือกระสุนดินดำไปในรถไฟ
               (๕) ว่าด้วยการทำความรำคาญหรือกระทำการลามกหรืออื่น ๆ
               (๖) ว่าด้วยการขึ้นรถเมื่อรถกำลังเดิน หรือขึ้นในที่ที่ไม่ใช่ทางขึ้น หรือเข้าไปอยู่ในที่ ๆ ต้องห้าม
               (๗) ว่าด้วยการห้ามมิให้สูบบุหรี่
               (๘) ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายบอกเหตุอันตรายในเวลาที่ไม่มีเหตุการณ์
               (๙) ว่าด้วยการนำสัมภาระ หรือสัตว์เข้าไปในรถโดยสารโดยที่พนักงานรถไฟไม่ยอมรับว่าเป็นหัตถะภาระ หรือเป็นของที่ผู้อื่นรังเกียจเพราะไม่สะอาด หรืออาจเป็นอันตรายหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อย ฯลฯ
               และกฎข้อบังคับอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นไว้ว่าด้วยความปราศภัย ความผาสุกและความเรียบร้อยของประชาชนในระหว่างเวลาเดินทางอยู่ในรถหรือในที่ดินรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒

               มาตรา ๙๐  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ก็ดี หรือกฎข้อบังคับที่ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชนและการเดินรถก็ดี หรือไม่ทำตามคำสั่งของพนักงานรถไฟผู้มีอำนาจที่จะออกคำสั่งได้ตามกฎหมายหรือตามกฎข้อบังคับนั้นก็ดี หรือกระทำการลามกหรือแสดงกิริยาชั่วร้ายอย่างใด ๆ ก็ดี ผู้นั้นอาจถูกขับไล่ออกจากรถไฟ หรือที่ดินรถไฟได้โดยมิต้องคิดค่าทำขวัญให้เลย

               มาตรา ๙๑  เมื่อผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษเพียงแต่ปรับเป็นพินัยสถานเดียว อาณาบาลรถไฟมีอำนาจประนีประนอมยอมความได้ทันที โดยยอมรับเบี้ยปรับตามอัตราอย่างสูงที่กฎหมายบัญญัติไว้ แล้วออกใบเสร็จให้เป็นสำคัญ ส่วนเงินพินัยที่เก็บได้นั้นให้กรมรถไฟแผ่นดินทำบัญชีส่งไปยังกระทรวงยุติธรรม

               มาตรา ๙๒  ห้ามมิให้จับกุมพนักงานซึ่งกำลังทำการของรถไฟอยู่ตามหน้าที่อันเกี่ยวกับการเดินรถโดยตรง (ซึ่งถ้าไม่มีพนักงานผู้นั้นกำกับการอยู่แล้วอาจเกิดภยันตรายแก่ประชาชน) เว้นไว้แต่จะได้แจ้งความให้หัวหน้าของพนักงานผู้นั้นทราบก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงให้จับกุมผู้นั้นได้

               มาตรา ๙๓  เมื่อผู้ใดกระทำความผิดขึ้นในรถไฟเป็นเหตุให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตายหรือต้องบาดเจ็บสาหัส ให้อาณาบาลรถไฟแจ้งเหตุการณ์นั้นแก่พนักงานอัยการที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือกรมการอำเภอ หรือนายตำรวจภูธรโดยพลัน

               มาตรา ๙๔  ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้บุคคลบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตายก็ดี หรือเมื่อรถไฟโดนกันโดยรถขบวนหนึ่งเป็นรถคนโดยสาก็ดี หรือเมื่อรถคนโดยสารทั้งขบวหรือตอนใดตอนหนึ่งตกรางก็ดี ให้อาณาบาลรถไฟแจ้งความบอกไปให้ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินทราบ พร้อมกับรายงานการเสียหายและข้อที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นนั้นโดยพลัน
               ถ้ามีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตายก็ดี หรือเมื่อมีเหตุสงสัยว่าจะมีคนร้ายทำให้รถไฟตกรางก็ดี ให้อาณาบาลรถไฟส่งคำแจ้งความอย่างเดียวกันนั้นไปยังอัยการในท้องที่ที่เกิดอุบัติเหตุนั้นให้ทราบด้วย