หมวดที่ ๑
ว่าด้วยการให้อนุญาต
-------------------------
มาตรา ๙๕ ห้ามมิให้สร้างรถไฟราษฎร์ขึ้นในพระราชอาณาจักร เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ
พระบรมราชานุญาตนั้นจะพระราชทานให้แต่เฉพาะเพื่อสร้างทางรถไฟ แยกไปจากทางรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟหัตถกรรมก็ได้ การประกอบใจความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตก็ดี หรือการที่จะปฏิบัติตามพระบรมราชานุญาตนั้นก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชกำหนดกฎหมายแห่งพระราชอาณาจักรนี้ทั้งสิ้น
มาตรา ๙๖ เมื่อบุคคลหรือบริษัทใดมีความประสงค์จะขออนุญาตสร้างทางรถไฟ ให้ยื่นเรื่องราวแสดงความประสงค์นั้นต่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
เรื่องราวนั้นให้เสนอต่อสภากรรมการรถไฟ เมื่อสภากรรมการเห็นสมควรจะเรียกร้องให้ยื่นรายละเอียดเพิ่มเติมอีกก็ได้ แล้วจะได้นำเรื่องราวนั้นยื่นต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนการที่จะให้อนุญาตหรือไม่นั้น สุดแล้วแต่จะเห็นเป็นการสมควร
มาตรา ๙๗ ก่อนที่จะยื่นเรื่องราวขอรับอนุญาตนั้จะยื่นเรื่องราวชั้นต้นขึ้นมาตามระเบียบอย่างเดียวกัน เพื่อขออนุญาตตรวจรังวัดพื้นที่ที่จะสร้างทางรถไฟนั้นเสียชั้นหนึ่งก่อนก็ได้
มาตรา ๙๘ ในเรื่องราวขออนุญาตนั้นต้องแสดงรายการละเอียดที่จำเป็นอันเกี่ยวกับการรถไฟที่คิดจะสร้างขึ้น และทั้งต้องแสดงฐานะสินทรัพย์ของผู้ยื่นเรื่องราว กับให้ส่งแบบและงบประมาณการก่อสร้างและแผนที่แสดงเขตที่ต้องการมาพร้อมกับเรื่องราวนั้นด้วย
มาตรา ๙๙ ในเวลาที่ยื่นเรื่องราวนั้น ผู้ยื่นเรื่องราวต้องลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์รายวันให้ชนทั้งหลายทราบว่าได้ยื่นเรื่องราวไว้ กับให้มอบแบบการก่อสร้างและแผนที่แสดงเขตที่ดินโดยชัดเจน ทั้งบอกประเภทการงานและความสำคัญของการที่จะทำนั้นไว้ ณ ที่ว่าการฝ่ายปกครองในท้องที่ที่รถไฟจะผ่านไปนั้นด้วย
ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้มอบหมายแบบการก่อสร้างและแผนที่ไว้ต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองดังกล่าวนั้นเป็นต้นไป ผู้มีส่วนได้และเสียจะขอตรวจดูหนังสือสำคัญเหล่านั้นหรือขอคัดสำเนาไป และจะทำเรื่องราวขัดข้องยื่นต่อสภากรรมการรถไฟก็ได้
มาตรา ๑๐๐ สภากรรมการรถไฟต้องสืบสวนตรวจดูรายการก่อสร้างที่ส่งมาพร้อมกับเรื่องราวนั้นได้ตามวิธีที่จะเห็นเป็นการสมควร ถ้ามีผู้ยื่นเรื่องราวขัดข้องต่อการนั้น ก็ให้สภากรรมการรถไฟตรวจพิเคราะห์ข้อขัดข้องนั้นด้วย
มาตรา ๑๐๑ ในระหว่างเวลาก่อสร้างทางรถไฟก็ดี หรือเมื่อได้เปิดให้รถเดินแล้วก็ดี ถ้าผู้รับอนุญาตเห็นเป็นการจำเป็นต้องขยายทางรถไฟต่อออกไปอีก ให้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตเพิ่มเติมตามระเบียบเดิม
ส่วนการที่จะโอนอำนาจสร้างรถไฟนั้น ก็ให้ขออนุญาตก่อนตามระเบียบอย่างเดียวกัน
มาตรา ๑๐๒ ถ้าผู้รับอนุญาต
(๑) เป็นคนล้มละลาย หรือ
(๒) หยุดไม่เดินรถตลอดทั้งสายหรือแต่ตอนหนึ่งตอนใดเกินกว่า ๖ เดือน เว้นแต่เมื่อมีพลาติศัยเกิดขึ้น หรือ
(๓) ไม่ปฏิบัติตามความข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาต หรือไม่ทำการที่จำเป็นเพื่อป้องกันภยันตรายแก่ประชาชน หรือ
(๔) ละเลยไม่ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายอันเกี่ยวแก่รัฐประศาสโนบาย หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่ประชาชน
ให้เรียกใบอนุญาตคืน แล้วให้ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอถอนอนุญาตนั้นเสียได้
มาตรา ๑๐๓ ถ้ารัฐบาลมีความประสงค์จะเข้าปกครองยึดถือรถไฟสายใดก่อนสิ้นกำหนดอนุญาต รัฐบาลมีอำนาจที่จะเข้ายึดถือได้ในเวลาและตามข้อความดังกล่าวไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น ถ้าและในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตมิได้กล่าวความข้อนี้ไว้ รัฐบาลมีอำนาจเข้ายึดถือปกครองรถไฟได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังแต่วันที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตล่วงแล้ว ๒๐ ปี
มาตรา ๑๐๔ ในเมื่อรัฐบาลเข้ายึดถือปกครองรถไฟก่อนสิ้นกำหนดอนุญาตก็ดี หรือเมื่อสิ้นกำหนดแล้วก็ดี ให้เข้ายึดถือปกครองบรรดาสิ่งปลูกสร้าง รถ เครื่องจักร พัสดุ และวัตถุอย่างอื่นด้วย
ส่วนที่ดินนั้นให้คิดเงินค่าทำขวัญให้ไม่เกินกว่าราคาที่ผู้รับอนุญาตได้ซื้อไว้นั้น
เมื่อถึงวันสิ้นกำหนดอนุญาตก็ดี หรือเมื่อได้ถอนอนุญาตเสียก็ดี ถ้ารัฐบาลไม่ได้แจ้งความประสงค์ที่จะเข้ายึดถือปกครองรถไฟนั้นให้ทราบแล้ว ผู้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะขายที่ดิน สิ่งปลูสร้างหรือเครื่องใช้อย่างอื่นของรถไฟได้ตามแต่จะเห็นควร