My Template

หมวดที่ ๒ ว่าด้วยการกำกับตรวจตราของรัฐบาล (มาตรา ๑๐๕ - ๑๑๙)

 

หมวดที่ ๒
ว่าด้วยการกำกับตรวจตราของรัฐบาล

-------------------------

               มาตรา ๑๐๕  บรรดารถไฟที่ผู้รับอนุญาตได้สร้างหรือจัดการนั้น ให้อยู่ในความกำกับตรวจตราดูแลของกรมรถไฟแผ่นดินดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ และตามข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นด้วย

               มาตรา ๑๐๖  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๐๗  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
               (๑) ออกความเห็นในเมื่อมีผู้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตสร้างรถไฟ
               (๒) ตรวจดูข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนที่จะพระราชทาน กับออกความเห็นแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความนั้นที่จำเป็นตามแต่จะคิดเห็นว่าเป็นการสมควร
               (๓) กำกับตรวจตราดูแลการก่อสร้างรถไฟ เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตจะได้กระทำผิดต่อข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นหรือไม่
               (๔) เมื่อผู้รับอนุญาตแจ้งมาให้ทราบว่าการก่อสร้างรถไฟสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก่อนเปิดทางให้รถเดิน ให้ออกความเห็นว่าในการที่จะเปิดทางให้รถเดินนั้นจะมีภยันตรายแก่ประชาชนหรือไม่
               (๕) เข้าตรวจทางและกำกับตรวจตราการเดินรถได้ทุกเมื่อ เพื่อจะได้ทราบว่าผู้รับอนุญาตได้ปฏิบัติการตามความในพระราชบัญญัตินี้ และข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นหรือไม่ และเพื่อจะได้ทราบว่าไม่มีเหตุการณ์อันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ประชาชน
               (๖) ตรวจสอบและออกความเห็นในเรื่องกฎข้อบังคับที่ผู้รับอนุญาตมีอำนาจตั้งขึ้นโดยได้อนุมัติจากผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
               (๗) ไต่สวนในเรื่องอุบัติเหตุ เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตจะมีส่วนรับผิดชอบในเหตุนั้นด้วยหรือไม่
               (๘) ตรวจกิจการอันจะต้องแจ้งไปให้ผู้รับอนุญาตทราบว่าทางรถไฟ เครื่องจักร หรือรถทั้งหมด หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งจะต้องรุไม่ให้ใช้อีกต่อไป หรือจะต้องซ่อมแซมเสียให้ดีก่อน
               (๙) ตรวจแผนผังรายการก่อสร้างหรือแบบที่คิดจะสร้าง ซึ่งผู้รับอนุญาตยื่นขึ้นมาขออนุญาตทำการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือขยายทางรถไฟ หรือขยายเขตที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือรถ

               มาตรา ๑๐๘  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจแจ้งความไปให้ผู้รับอนุญาตทราบและบังคับให้ทำการดังต่อไปนี้ได้ภายในเวลาอันสมควร คือ
               (๑) ให้งดเว้นใช้การ หรือซ่อมแซมแก้ไขทางรถไฟ เครื่องจักรหรือรถทั้งหมดหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งให้เรียบร้อย
               (๒) ให้ใช้คนที่สามารถทำการเดินรถ และให้รักษารถไฟมิให้เป็นอันตราย
               (๓) ให้ทำรั้วกั้นตามทางรถไฟในที่ที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อความปราศภัยแห่งประชาชน
               (๔) ให้ปฏิบัติการตามความในภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งกรมรถไฟแผ่นดินจำต้องกระทำเพื่อรักษาประโยชน์และความปราศภัยแห่งประชาชน และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในเรื่องจัดการรถไฟด้วย

               มาตรา ๑๐๙  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจออกกฎข้อบังคับที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อระงับหรือลดหย่อนภยันตรายอันพึงเกิดขึ้นแก่กิจการของรถไฟ เช่น กำหนดให้มีเครื่องห้ามล้อ และโคมไฟ ว่าด้วยสถานที่ตั้งสำนักงาน และโรงเรือนริมทางรถไฟ กำหนดให้รถเดินเร็วหรือช้า กำหนดจำนวนผู้โดยสารและอื่น ๆ
               กฎข้อบังคับนี้เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ลงนามและแจ้งไปให้ผู้รับอนุญาตทราบแล้ว ให้ใช้บังคับผู้รับอนุญาตได้ทีเดียว

               มาตรา ๑๑๐  ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน พึงตั้งอาณาบาลรถไฟไปประจำทุกสถานีที่สำคัญ และให้ผู้รับอนุญาตจัดหาสำนักงานที่ทำการให้ตามสมควร

               มาตรา ๑๑๑  กรรมการรถไฟ หรืออาณาบาลรถไฟทุคนมีอำนาจดังต่อไปนี้เพื่อรักษาการให้เป็นไปตามหน้าที่ คือ
               (๑) เข้าตรวจตราทางรถไฟ ที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือของผู้รับอนุญาต
               (๒) เรียกผู้ทำการก่อสร้างหรือผู้จัดการรถไฟคนใดคนหนึ่งมาไต่ถาม
               (๓) สั่งให้ผู้รับอนุญาตส่งบรรทุกสมุดหนังสือ และเอกสารสำคัญซึ่งเห็นเป็นการจำเป็น

               มาตรา ๑๑๒  ผู้รับอนุญาตจำต้องออกใบเบิกทางให้แก่กรรมการรถไฟ อาณาบาลรถไฟและบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ตั้งให้ไปตรวจ เพื่อเข้าออกในที่ดินรถไฟและเพื่อไปบนรถจักรหรือรถโดยสารได้เป็นพิเศษโดยมิต้องเสียค่าโดยสาร

               มาตรา ๑๑๓  ผู้รับอนุญาตจำต้องทำบัญชีอันแท้จริงจดเงินรายรับประจำวันอันเป็นเงินค่าโดยสาร ค่าบรรทุกครุภาระ ค่าบรรทุกห่อวัตถุ หรือสินค้า และเก็บรักษาบัญชีนั้นไว้

               มาตรา ๑๑๔  ผู้รับอนุญาตจำต้องยื่นบัญชีทุกครึ่งปีต่อสภากรรมการรถไฟแสดงยอดรายรับและรายจ่ายเงินทุกประเภท พร้อมกับบัญชีงบดุลซึ่งผู้อำนวยการและผู้ตรวจสอบบัญชีได้ลงนามรับรองว่าถูกต้อง
               กรมรถไฟแผ่นดินพึงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือกว่านั้น แต่มิให้เกินกว่า ๓ คน เพื่อตรวจสอบบัญชีนั้น

               มาตรา ๑๑๕  ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน มีอำนาจร้องขอต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมให้ตั้งผู้ตรวจการคนหนึ่งหรือกว่านั้นไปตรวจสอดส่องในแผนกการเงินของผู้รับอนุญาต แล้วให้ทำรายงานเสนอ
               เมื่อได้ตั้งผู้ตรวจสอดส่องดังนี้แล้ว ผู้รับอนุญาตจำต้องปฏิบัติการตามข้อความที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัทว่าด้วยอำนาจตรวจสอดส่องการบริษัทนั้น

               มาตรา ๑๑๖  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตส่งบัญชีอัตราค่าโดยสาร อัตราค่าระวางบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุและสินค้าที่คงใช้อยู่ กำหนดอัตรานี้ถ้าเปลี่ยนแปลงเมื่อใด ให้แจ้งความไปให้สภากรรมการรถไฟทราบทุกครั้ง

               มาตรา ๑๑๗  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตย้ายหรือเปลี่ยนทางรถไฟ หรือกิจการที่เกี่ยวกับการเดินรถในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ทุกเมื่อ เมื่อเห็นว่าจำเป็นหรือเป็นการสมควรเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน ในเรื่องเช่นนี้ ถ้าผู้รับอนุญาตได้กระทำการครบถ้วนตามคำสั่งนั้นแล้ว เมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้น ก็ให้คิดค่าทำขวัญให้แก่ผู้รับอนุญาตตามที่ได้เสียไปนั้น

               มาตรา ๑๑๘  เมื่อสภากรรมการรถไฟออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งนั้นแล้ว สภากรรมการมีอำนาจ
               (๑) ห้ามการเดินรถไฟตามส่วนที่เห็นสมควรแก่การรักษาความปราศภัยแห่งประชาชน
               (๒) สั่งให้คนงานหรือผู้แทนของกรมรถไฟแผ่นดินไปทำกิจการตามที่ต้องการให้ทำนั้น แล้วคิดเอาค่าใช้จ่ายแก่ผู้รับอนุญาต

               มาตรา ๑๑๙  ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำแจ้งความหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของสภากรรมการรถไฟ เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินเป็นโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาล ให้ลงโทษปรับผู้รับอนุญาตเป็นพินัยไม่เกินกว่าวันละ ๑๐๐ บาท ทุก ๆ วัน ตามจำนวนวันที่ละเลยมิได้ปฏิบัติการตามคำแจ้งความหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายนั้น


               มาตรา ๑๐๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕