หมวด ๒
การดำเนินการตามหน้าที่ของคณะกรรมการ
-------------------------
มาตรา ๓๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการดำเนินการโดยมุ่งหมายที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และให้เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศอย่างต่อเนื่อง
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการดำเนินการโดยการประสานหรือแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และภาคประชาสังคม
มาตรา ๓๔ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ให้คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ล่าช้า และต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นหรือลักษณะเดียวกันนั้นขึ้นอีก
บุคคลใดที่ได้รับความเสียหายหรือพบเห็นว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมมีสิทธิแจ้งหรือร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และต้องดำเนินการโดยมุ่งหมายให้การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว และไม่มีลักษณะบังคับให้ต้องเปิดเผยตัวตนของผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน เว้นแต่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับประโยชน์ของผู้ร้องเรียนเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งจำเป็นต้องทราบตัวบุคคลเพื่อประโยชน์ในการติดต่อขอข้อมูลหรือแจ้งผลการดำเนินการ
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีที่มีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน เมื่อผลการพิจารณาเป็นประการใด ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนทราบด้วย เว้นแต่ผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนมิได้แจ้งสถานที่อยู่ที่จะติดต่อได้
มาตรา ๓๕ ในการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงตามมาตรา ๓๔ คณะกรรมการอาจดำเนินการโดยประการใด ๆ ซึ่งต้องไม่สร้างขั้นตอนหรือเป็นภาระแก่บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมากเกินจำเป็น และต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร้องเรียนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงของตนได้ตามสมควร
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้ ซึ่งต้องกระทำเท่าที่จำเป็น
(๑) ขอให้หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานดังกล่าว หรือบุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลใดไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการร้องขอคณะกรรมการจะออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นดำเนินการดังกล่าวก็ได้
(๒) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในกรณีที่เคหสถานหรือสถานที่ที่จะเข้าไปนั้นมิได้อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ยินยอม ให้เข้าไปได้เมื่อมีหมายของศาล
(๓) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าเดินทางของบุคคลซึ่งมาให้ความเห็นหรือถ้อยคำ และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
ในการดำเนินการตาม (๑) หรือ (๒) คณะกรรมการอาจมอบหมายให้กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการแทนคณะกรรมการได้ เว้นแต่การออกคำสั่งตาม (๑) ให้มอบหมายได้เฉพาะกรรมการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในการดำเนินการตาม (๒) ให้ดำเนินการต่อหน้าผู้ครอบครองหรือดูแลสถานที่ หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง หรือถ้าหาบุคคลดังกล่าวไม่ได้ ก็ให้ดำเนินการต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งได้ขอร้องให้มาเป็นพยาน ในการนี้ ให้ผู้ครอบครองหรือดูแลสถานที่หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยสะดวก
มาตรา ๓๖ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบแล้วเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีใดเป็นเรื่องเฉพาะตัวเป็นรายกรณี ให้แจ้งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวตามหน้าที่และอำนาจภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวัน โดยให้คณะกรรมการเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีนั้นด้วย แล้วแต่กรณี
ให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้รับแจ้งภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องไม่อาจดำเนินการได้เนื่องจากไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนนั้น หรือเป็นการร้องเรียนโดยใช้สิทธิไม่สุจริต หรือได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใดให้แจ้ง ให้คณะกรรมการทราบก่อนพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินการตามวรรคสองหรือวรรคสามภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๓๗ ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญาและผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษได้โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่กรรมการผู้ใดพบเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะเป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของบุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่มีทางเยียวยาได้ในภายหลัง กรรมการผู้นั้นอาจแจ้งให้หน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานนั้นได้ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการทราบ ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้กรรมการผู้นั้นอาจสั่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือตามที่เห็นสมควรได้
ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งตามวรรคหนึ่งที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น
มาตรา ๓๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๖ ห้ามมิให้คณะกรรมการรับเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้ ไว้พิจารณา
(๑) เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่เป็นการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
(๒) เรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ
(๓) เรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น หรือที่องค์กรอิสระอื่นรับไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้นแล้ว แต่ไม่ตัดอำนาจในการที่จะขอรับทราบผลการพิจารณาขององค์กรอิสระที่รับเรื่องไว้ดำเนินการ
(๔) เป็นการร้องเรียนโดยใช้สิทธิไม่สุจริตและการพิจารณาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(๕) เรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
(๖) เป็นเรื่องที่คณะกรรมการเคยพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เว้นแต่จะปรากฏพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่อันอาจทำให้ผลการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไป
(๗) เรื่องอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่ความปรากฏในภายหลังว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสั่งยุติเรื่อง
มาตรา ๔๐ ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศประจำปีให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินเพื่อเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ให้กรรมการมาแถลงรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาด้วย
ในกรณีที่มีสถานการณ์อันกระทบหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการดำเนินการตรวจสอบแล้วจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศในเรื่องนั้นขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรายงานให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทำรายงานตามวรรคหนึ่งไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาจะขยายเวลาออกไปอีกไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันก็ได้แต่ต้องแจ้งให้รัฐสภาทราบ ในกรณีที่ยังไม่สามารถเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดเวลาที่ขยายโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
การจัดทำรายงานตามมาตรานี้ ให้กระทำเป็นการสรุป โดยอย่างน้อยในรายงานต้องประกอบด้วย ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมิให้ระบุรายละเอียดอันเป็นการเปิดเผยความลับของบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยไม่จำเป็น และต้องคำนึงถึงความถูกต้อง เป็นธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญด้วย ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่คณะกรรมการร้องขอ แจ้งข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในส่วนที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจให้คณะกรรมการทราบ และให้นำความในมาตรา ๓๕ (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๑ ให้คณะกรรมการจัดให้มีแผนการดำเนินการตามมาตรา ๔๐ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่แต่ละกรณีเป็นไปโดยไม่ชักช้า และแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
มาตรา ๔๒ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการแก้ไขปัญหาหรือการป้องกันเพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องใดหรือลักษณะใดขึ้นอีก จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุง กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนให้คณะกรรมการจัดทำข้อเสนอแนะเสนอต่อรัฐสภาคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรายงานหรือข้อเสนอแนะตามมาตรา ๓๖ วรรคสี่ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๒ แล้ว ให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสมโดยเร็ว กรณีใดไม่อาจดำเนินการได้หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้แจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการอาจเผยแพร่รายงานหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการหรือผลการดำเนินการของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปได้
มาตรา ๔๔ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใดว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม คณะกรรมการต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นโดยไม่ชักช้า เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้สรุปไว้ในรายงานตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง ด้วย ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๓๕ (๑) มาใช้บังคับแก่การตรวจสอบโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา โดยอย่างน้อยให้คณะกรรมการสรุปปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินการด้วย และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจหรือตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล
ผู้จัดทำและเผยแพร่รายงานตามหมวดนี้ หากได้กระทำโดยสุจริต ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญา ทางปกครอง หรือทางวินัย