หมวด ๓ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (มาตรา ๔๗ - ๕๘)

 

หมวด ๓
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

-------------------------

               มาตรา ๔๗  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ

               มาตรา ๔๘  สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) รับผิดชอบงานธุรการและดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
               (๒) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุน การปฏิบัติงานของคณะกรรมการและกรรมการ
               (๓) ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และสนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับงานของคณะกรรมการ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือองค์กรอื่นใดในด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนภารกิจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
               (๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือที่คณะกรรมการมอบหมาย
               การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๔๙  ในการกำกับดูแลสำนักงาน ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศ ในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) การแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานและขอบเขตหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการดังกล่าว
               (๒) การกำหนดตำแหน่ง การจัดประเภทตำแหน่ง ระดับตำแหน่ง และการเทียบตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๓) การกำหนดคุณสมบัติ การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากราชการ วินัย และการลงโทษทางวินัย การร้องทุกข์ การอุทธรณ์การลงโทษและการอื่นที่จำเป็นในการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการและพนักงานราชการของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงาน
               (๔) การบริหารจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
               (๕) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๖) การกำหนดคุณสมบัติ วิธีการสรรหา และการคัดเลือกเลขาธิการ
               (๗) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของกรรมการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๘) การจ้างและการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการ รวมทั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการประจำประธานกรรมการและกรรมการ และการกำหนดเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่บุคคลดังกล่าว
               (๙) การอื่นใดอันจำเป็นต่อการกำกับหรือควบคุมการดำเนินงานของสำนักงานหรือการบังคับบัญชาเลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานหรือการทำให้บุคคลดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
               การดำเนินการตาม (๑) (๒) และ (๘) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัว
               การกำหนดตาม (๒) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และความเพียงพอในการดำรงชีพ และภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของบุคลากรแต่ละสายงานและระดับด้วย
               ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร
               ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีหน้าที่ลงนามในระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการมีมติเห็นชอบแล้ว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๕๐  ข้าราชการสำนักงาน ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ให้ข้าราชการสำนักงานเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
               การใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่มิได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการโดยอนุโลม
               การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้แก่ข้าราชการสำนักงาน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๕๑  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๕๐ วรรคสาม ให้คณะกรรมการทำหน้าที่ เป็น ก.พ. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงานได้ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
               ให้คณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่เช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
               ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและคณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับ ก.พ. หรือ อ.ก.พ. แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๕๒  ให้คณะกรรมการออกข้อกำหนดทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน ทั้งนี้ ข้อกำหนดทางจริยธรรมดังกล่าวต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด

               มาตรา ๕๓  ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการโดยคณะกรรมการจะกำหนดให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการก็ได้
               ให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ

               มาตรา ๕๔  การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการสำนักงาน และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
               (๑) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เมื่อได้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกตามมาตรา ๔๙ (๖) แล้ว ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
               (๒) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงนอกจาก (๑) หรือเทียบเท่าเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
               (๓) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) ให้เลขาธิการเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง

               มาตรา ๕๕  ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติราชการแทนก็ได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
               ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกิจการสำคัญเกี่ยวกับการงบประมาณของสำนักงานและกิจการอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้เลขาธิการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

               มาตรา ๕๖  ให้คณะกรรมการเสนองบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการและสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในการเสนองบประมาณรายจ่ายดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๕๘ วรรคสอง ประกอบด้วย
               ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
               ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย

               มาตรา ๕๗  เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๕๖ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเป็นการเฉพาะกรณี
               ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ

               มาตรา ๕๘  ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
               ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน โดยให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงาน รวมทั้งประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานโดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และคุ้มค่าเพียงใด แล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี โดยไม่ชักช้า