My Template

ส่วนที่ ๗ การยื่นแบบและการชำระภาษี (มาตรา ๘๓ - ๘๓/๑๐)

 

ส่วนที่ ๗
การยื่นแบบและการชำระภาษี

-------------------------

               มาตรา ๘๓  ภายใต้บังคับมาตรา ๘๓/๑ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยให้ยื่นเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษีถ้ามี ไม่ว่าจะได้ขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม
              
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีสำหรับเดือนภาษีใดให้ยื่นภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
               การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีให้ยื่นและชำระ ณ ที่ว่าการอำเภอ
ท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ทั้งนี้ เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดสถานที่เป็นอย่างอื่น
              
ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี ให้แยกยื่นและชำระเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะยื่นคำร้องต่ออธิบดีขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือ ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนดตามวรรคสามก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่เดือนภาษีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
               ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามวรรคหนึ่ง หากมีเครดิตภาษีหรือมีภาษีที่ต้อง
ขอคืนให้ดำเนินการตามส่วน ๘

               มาตรา ๘๓/๑  สำหรับกิจการบางประเภทและหรือบางขนาดซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดาอาจตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีตามช่วงเวลาภาษี โดยให้แต่ละช่วงเวลาภาษีมีกำหนดไม่เกินสามเดือนก็ได้
              
และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าช่วงเวลาภาษีแต่ละช่วงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเป็นเดือนภาษีสำหรับกิจการนั้น ๆ

               มาตรา ๘๓/๒  เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา ๘๒/๑ (๑) (๓) (๔) หรือ (๕) และมาตรา ๘๒/๒ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียน

               มาตรา ๘๓/๓  ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีแทนหรือร่วมกับผู้ประกอบการจดทะเบียน
              
(๑) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ได้แก่ ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี
              
(๒) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้นำเข้าเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งถึงแก่ความตาย ได้แก่ ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก
              
(๓) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ได้แก่ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งในคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น
               (๔) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ได้แก่ กรรมการ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการ
              
(๕) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเลิกกันโดยมีการชำระบัญชี ได้แก่ ผู้ชำระบัญชีและกรรมการ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันเลิกนิติบุคคลนั้น

               มาตรา ๘๓/๔  ภายใต้บังคับส่วน ๑๓ และส่วน ๑๔ ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องคบถ้วน ไม่ว่าการคลาดเคลื่อนนั้นจะเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับชำระภาษีถ้ามี ให้ถูกต้องครบถ้วน โดยยื่น ณ สถานที่ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ก่อน

               มาตรา ๘๓/๕  ในการขายทอดตลาด ให้ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสีย
              
ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งตามวรรคหนึ่ง นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่และกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๒ และให้นำมาตรา ๕๔ และมาตรา ๕๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
              
ให้ผู้ทอดตลาดที่เป็นส่วนราชการออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดและจัดทำสำเนาให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
               ในกรณีที่ส่วนราชการขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกยึดมาตาม
กฎหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด ให้นำความในมาตรานี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
              
ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ตามวรรคสามและวรรคสี่ ให้ถือเป็นใบกำกับภาษี เว้นแต่ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา ๘๒/๑๖ ไม่ให้ถือเป็นใบกำกับภาษี

               มาตรา ๘๓/๖  เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี
              
(๑) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๘๕/๓
              
(๒) ผู้ประกอบการ
ที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ
                    
(ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
                    
(ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย

              
(๓) ผู้ประกอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
              
ให้นำมาตรา ๘๓/๕ วรรคสอง มาใช้บังคับ

               มาตรา ๘๓/๗  ในการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ ๐ ให้ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา ๘๒/๑๒ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนา
              
ให้นำมาตรา ๘๓/๕ วรรคสอง มาใช้บังคับ

               มาตรา ๘๓/๘๑๐  ภายใต้บังคับมาตรา ๘๓/๙ ให้ผู้นำเข้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นใบขนสินค้าตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากรตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
              
ในกรณีนำเข้าสินค้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือในกรณีนำเข้าเครื่องจักร หรือวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก ของผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ผู้นำเข้าจะวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีก็ได้
              
วิธีการประกันและการถอนประกัน ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
              
ในการนำเข้าสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๑ (๒) (ค) ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา ๘๒/๑ (๓) ยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีตามวรรคหนึ่งพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

               มาตรา ๘๓/๙๑๑  ในกรณีที่มีการนำสินค้าที่นำเข้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตปลอดอากร ถ้าภายหลังสินค้านั้นได้ปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยมิใช่เพื่อส่งออก หรือได้มีการนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออก ให้ผู้นำเข้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

               มาตรา ๘๓/๑๐๑๒  ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
              
(๑) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร และในกรณีของตกค้างตามมาตรา ๗๘/๒ (๓) ให้กรมศุลกากรหักภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มเพื่อกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด
              
(๒) สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วยให้กรมสรรพสามิตเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร


               มาตรา ๘๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๓/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๓/๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๓/๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๓/๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๓/๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๓/๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๓/๖ วรรคหนึ่ง (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๘๓/๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๐ มาตรา ๘๓/๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๑ มาตรา ๘๓/๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๒ มาตรา ๘๓/๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔