My Template

ส่วนที่ ๙ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา ๘๕ - ๘๕/๑๙)

 

ส่วนที่ ๙
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

-------------------------

               มาตรา ๘๕  ผู้ประกอบการซึ่งจะเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ให้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ
              
คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดและให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
              
ถ้าผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
              
การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

               มาตรา ๘๕/๑  ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
              
(๑) สำหรับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการและมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๘๑/๑ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่
                    
(ก) วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม สำหรับกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมไว้แล้ว หรือ
                    
(ข) วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ สำหรับกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมขึ้นใหม่ หรือมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมน้อยกว่าที่กำหนดไว้ก่อน
               (๒) สำหรับผู้ประกอบการที่ได้แจ้งต่ออธิบดีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๑/๓ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดี
              
ให้นำมาตรา ๘๕ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับ

               มาตรา ๘๕/๒  ให้ตัวแทนตามมาตรา ๘๒/๑ (๑) เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

               มาตรา ๘๕/๓  ให้ผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
              
(๑) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว
              
(๒) ผู้ประกอบการ
ที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ
                    
(ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
                    
(ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย

              
(๓) ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร
              
อธิบดีจะผ่อนผันให้ผู้ประกอบการตาม (๑) หรือ (๓) ซึ่งการประกอบกิจการของ
ผู้ประกอบการดังกล่าวมีลักษณะและวิธีการตามที่อธิบดีกำหนดมีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวก็ได้
               การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว และการออกใบทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
              
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะพิจารณากำหนดว่า การเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรอย่างใด เป็นการเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว

               มาตรา ๘๕/๔  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแสดงใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ณ ที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายในสถานประกอบการเป็นรายสถานประกอบการ

               มาตรา ๘๕/๕  ในกรณีที่ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด
              
การยื่นคำขอและการออกใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามแบบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
              
ใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

               มาตรา ๘๕/๖  ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในสาระสำคัญ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานประกอบการ ประเภทกิจการ ประเภทสินค้าหรือบริการ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
              
การแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการตามวรรคหนึ่ง และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เปลี่ยนแปลงรายการแล้ว ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

               มาตรา ๘๕/๗  ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ก่อนวันเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อขอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสถานประกอบการนั้น
              
ในการปิดสถานประกอบการบางแห่ง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันปิดสถานประกอบการ
              
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ปิดสถานประกอบการคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการนั้น ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้พร้อมกับการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
              
ให้นำมาตรา ๘๕/๖ วรรคสอง มาใช้บังคับ

               มาตรา ๘๕/๘๑๐  ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะย้ายสถานประกอบการ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อนวันย้ายสถานประกอบการไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
              
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ย้ายสถานประกอบการแจ้งการเปิดสถานประกอบการแห่งใหม่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการแห่งใหม่ตั้งอยู่ก่อนวันเปิดสถานประกอบการแห่งใหม่ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันเพื่อขอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสถานประกอบการแห่งใหม่นั้น พร้อมกับคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการเดิม
              
ให้นำมาตรา ๘๕/๖ วรรคสอง มาใช้บังคับ

               มาตรา ๘๕/๙๑๑  ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะและเงื่อนไขของสถานประกอบการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวเป็นสถานประกอบการเฉพาะกิจได้
              
สถานประกอบการชั่วคราวที่มีลักษณะและเงื่อนไขเป็นสถานประกอบการเฉพาะกิจตามที่อธิบดีกำหนด ไม่ให้ถือว่าเป็นสถานประกอบการที่อยู่ในบังคับของมาตรา ๘๕/๖ มาตรา ๘๕/๗ และมาตรา ๘๕/๘ แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดตั้งสถานประกอบการเฉพาะกิจจะต้องทำรายงานและปฏิบัติตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

               มาตรา ๘๕/๑๐๑๒  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ มีสิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
              
(๑) ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมไว้แล้ว ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งกิจการของตนมีมูลค่าของฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปีก่อนการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
              
(๒) ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ก่อน ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งกิจการของตนมีมูลค่าของฐานภาษีก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี
              
(๓) ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แจ้งต่ออธิบดีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๑/๓ ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยนับแต่วันที่ผู้นั้นเริ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และต้องมีมูลค่าของฐานภาษีของกิจการต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาตลอดระยะเวลาดังกล่าว
              
(๔) ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา ๘๒/๑๖ ซึ่งกิจการของตนมีมูลค่าของฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงก่อนการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
              
การใช้สิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
              
กฎกระทรวงตาม (๓) จะกำหนดระยะเวลาให้แตกต่างกันในกิจการแต่ละประเภทก็ได้ แต่ระยะเวลาที่กำหนดจะต้องไม่น้อยกว่าสองปี

               มาตรา ๘๕/๑๑๑๓  กิจการใดที่ผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วและมีมูลค่าของฐานภาษีสูงกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๘๑/๑ แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมสูงกว่าที่กำหนดไว้ก่อนซึ่งมีผลทำให้มูลค่าของฐานภาษีของกิจการดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมที่กำหนดขึ้นใหม่ ให้การจดทะเบียนของผู้ประกอบการนั้นยังคงมีผลต่อไป เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้ใช้สิทธิตามมาตรา ๘๕/๑๐ (๒) และ (๔) ขอให้อธิบดีสั่งถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

               มาตรา ๘๕/๑๒๑๔  ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่าสามสิบวัน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการหยุดประกอบกิจการชั่วคราว ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว

               มาตรา ๘๕/๑๓๑๕  ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะโอนกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการโอนกิจการและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถ้ามี หรือแจ้งการโอนและแจ้งการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา ๘๕/๑๕ แล้วแต่กรณี ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
              
ในกรณีที่ผู้รับโอนกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ผู้รับโอนแจ้งการรับโอนกิจการ และการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถ้ามี ณ สถานที่ที่ผู้รับโอนได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันรับโอนกิจการ และในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนให้ผู้รับโอนยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันรับโอนกิจการ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ผู้รับโอนประกอบกิจการดังกล่าวต่อเนื่องไปพลางก่อนได้
              
ให้นำมาตรา ๘๕/๑๕ วรรคสอง มาใช้บังคับในกรณีที่เป็นการโอนกิจการทั้งหมด

               มาตรา ๘๕/๑๔๑๖  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นนิติบุคคลใดประสงค์จะควบเข้ากัน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา ๘๕/๑๕ ตามแบบที่อธิบดีกำหนด และให้นิติบุคคลใหม่ซึ่งได้ควบเข้ากันยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่

               มาตรา ๘๕/๑๕๑๗  ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดเลิกประกอบกิจการให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเลิกกิจการตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ
              
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกกิจการคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้พร้อมกับการแจ้งเลิกประกอบกิจการ

               มาตรา ๘๕/๑๖๑๘  ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถึงแก่ความตาย ให้ความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนของผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวสิ้นสุดลง และให้ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายมีสิทธิประกอบกิจการต่อไปได้อีกไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย แต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทราบถึงความตายของผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเร็วที่สุด
              
ในกรณีที่ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายใช้สิทธิดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวมีสิทธิและความรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียน และในกรณีที่มีเหตุอันสมควรผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นอาจขอให้อธิบดีสั่งขยายเวลาตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้โดยแสดงเหตุผลความจำเป็นต่ออธิบดี ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งขยายเวลาได้ตามที่เห็นสมควรโดยจะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้
              
ในกรณีที่ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายไม่ใช้สิทธิดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ตาย ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย
              
หากผู้จัดการมรดกหรือทายาทประสงค์จะประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายต่อไป ให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทนั้นมีสิทธิขอโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดและให้นำมาตรา ๘๕/๑๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และเมื่ออธิบดีได้สั่งให้โอนกิจการแล้วให้สิทธิของผู้ครอบครองทรัพย์มรดกตามมาตรานี้สิ้นสุดลง
              
ให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทที่รับโอนกิจการคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ตาย ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการแจ้งเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วแต่กรณี และในกรณีที่ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายได้ใช้สิทธิดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง แต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือระยะเวลาที่อธิบดีได้ขยายให้ตามวรรคสองแล้ว ไม่มีผู้จัดการมรดกหรือทายาทขอโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสี่ ให้ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันพ้นกำหนดดังกล่าว

               มาตรา ๘๕/๑๗๑๙  ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดกระทำผิดบทบัญญัติในหมวดนี้ อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นได้ และให้แจ้งการเพิกถอนดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นหนังสือ
              
ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง คืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอน

               มาตรา ๘๕/๑๘๒๐  ในกรณีที่อธิบดีสั่งถอนทะเบียนตามมาตรา ๘๕/๑๐ หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการตามมาตรา ๘๕/๑๕ หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถึงแก่ความตายและผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายได้ใช้สิทธิดำเนินกิจการ แต่ต่อมาสิทธิดำเนินกิจการสิ้นสุดลงโดยไม่มีผู้จัดการมรดกหรือทายาทขอโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายตามมาตรา ๘๕/๑๖ หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๑๗ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายดังกล่าว แล้วแต่กรณี ยังคงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไปจนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๑๙

               มาตรา ๘๕/๑๙๒๑  ในกรณีดังต่อไปนี้ให้อธิบดีสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
              
(๑) เมื่ออธิบดีสั่งถอนทะเบียนตามมาตรา ๘๕/๑๐
              
(๒) เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการตามมาตรา ๘๕/๑๕
              
(๓) เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนตายและไม่มีผู้จัดการมรดกหรือทายาทยื่นขอโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายตามมาตรา ๘๕/๑๖
              
(๔) เมื่ออธิบดีสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๑๗
              
ให้อธิบดีแจ้งคำสั่งขีดชื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้จัดการมรดก ทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า
              
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายและได้ใช้สิทธิดำเนินกิจการตามมาตรา ๘๕/๑๖ พ้นความรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนในวันที่อธิบดีมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียน
               ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ให้อธิบดีแจ้งการขีดชื่อออกทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นต่อนายทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายนั้น ๆ ภายในสามสิบวันและให้นายทะเบียนดังกล่าวจดแจ้งการเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในทะเบียนโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๘๕/๒๐๒๒  ในกรณีมีความจําเป็นหรือเหมาะสม รัฐมนตรีมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกําหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้แทนการดําเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในส่วน ๙ ได้
               การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ อันเป็นความผิดและต้องระวางโทษตามมาตราที่เกี่ยวข้องด้วย


               มาตรา ๘๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๕/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๕/๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๕/๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๕/๓ วรรคหนึ่ง (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๘๕/๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๕/๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๕/๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๘๕/๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๐ มาตรา ๘๕/๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๑ มาตรา ๘๕/๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๒ มาตรา ๘๕/๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๓ มาตรา ๘๕/๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๔ มาตรา ๘๕/๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๕ มาตรา ๘๕/๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๖ มาตรา ๘๕/๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๗ มาตรา ๘๕/๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๘ มาตรา ๘๕/๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๑๙ มาตรา ๘๕/๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๒๐ มาตรา ๘๕/๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๒๑ มาตรา ๘๕/๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               ๒๒ มาตรา ๘๕/๒๐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔