ส่วนที่ ๑๐
ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้
-------------------------
มาตรา ๘๖๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๖/๑ มาตรา ๘๖/๒ และมาตรา ๘๖/๘ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้า หรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ตามมาตรา ๘๗/๓
ผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา ๘๕/๓ จะออกใบกำกับภาษีได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
ใบกำกับภาษีให้ออกเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
การออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทนในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๘๖/๑๒ ห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ออกใบกำกับภาษี
(๑) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนของตนออกใบกำกับภาษีแทนตนตามมาตรา ๘๖/๒
(๑/๑)๓ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน
(๒) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นโดยบุคคลอื่นตามมาตรา ๘๓/๕
(๓) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๘๓/๖ (๓)
มาตรา ๘๖/๒๔ ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดที่อยู่นอกราชอาณาจักรและมีตัวแทนทำการแทนตน หากประสงค์จะให้ตัวแทนของตนออกใบกำกับภาษีในนามของตนให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
ให้ตัวแทนที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขอและได้รับอนุมัติแล้ว ออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้ตัวแทนดังกล่าวมีหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับและร่วมกับผู้ประกอบการจดทะเบียนในส่วนที่เกี่ยวกับใบกำกับภาษี
มาตรา ๘๖/๓๕ ในการขายทอดตลาดตามมาตรา ๘๓/๕ ให้ผู้ทอดตลาดที่มิใช่ส่วนราชการซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีหรือใบรับตามมาตรา ๑๐๕ แล้วแต่กรณี ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน
มาตรา ๘๖/๔๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๖/๕ และมาตรา ๘๖/๖ ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(๑) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(๒) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๖ วรรคสี่ หรือมาตรา ๘๖/๒ หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๖/๓ ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
(๓) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(๔) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี
(๕) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(๖) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
(๗) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(๘) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
รายการในใบกำกับภาษีให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศหรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้ เว้นแต่อธิบดีจะได้กำหนดให้การออกใบกำกับภาษีสำหรับสินค้าหรือบริการบางอย่างหรือหลายอย่างต้องกระทำแยกต่างหาก โดยมิให้รวมไว้ในใบกำกับภาษีเดียวกันกับรายการอื่น
มาตรา ๘๖/๕๗ ใบกำกับภาษีดังต่อไปนี้อธิบดีอาจกำหนดให้มีรายการเป็นอย่างอื่นได้
(๑) ใบกำกับภาษีของสินค้าหรือบริการเฉพาะอย่างตามมาตรา ๗๙/๑
(๒) ใบกำกับภาษีของยาสูบตามมาตรา ๗๙/๕ หรือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามมาตรา ๗๙/๖
(๓) ใบกำกับภาษีที่อธิบดีอนุมัติให้ทำเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศตามมาตรา ๘๖/๔ วรรคสอง
(๔) ใบกำกับภาษีของสินค้าหรือบริการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๘๖/๖๘ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะและหรือเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าวให้เป็นกิจการค้าปลีก และในกิจการค้าปลีกการแสดงราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการจะต้องเป็นการแสดงราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ แต่ตัวแทนของผู้ประกอบการจดทะเบียนจะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่ได้
ใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(๑) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(๒) ชื่อหรือชื่อย่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(๓) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี
(๔) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(๕) ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการโดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
(๖) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(๗) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
ชื่อ ชนิด หรือประเภทของสินค้าตามวรรคหนึ่งจะออกเป็นรหัสก็ได้โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแจ้งรหัสให้อธิบดีทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสิบห้าวันก่อนวันใช้รหัสนั้น
รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ทำเป็นภาษาไทยเป็นหน่วยเงินตราไทยและใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีกซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีและการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกำหนด
ให้นำมาตรา ๘๖/๔ วรรคสาม มาใช้บังคับในการออกใบกำกับภาษีตามมาตรานี้
มาตรา ๘๖/๗๙ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการอย่างอื่นซึ่งมิใช่เป็นกิจการค้าปลีก ซึ่งมีความประสงค์จะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อและหรือใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๖/๖ จะขออนุมัติต่ออธิบดีพร้อมกับแสดงเหตุผลและความจำเป็นก็ได้ และในการอนุมัติ อธิบดีจะกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๘๖/๘๑๐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะ และเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ได้
ในการประกอบกิจการรายย่อยผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวไม่จำต้องออกใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่จำนวนเงินดังกล่าวจะต้องไม่เกินหนึ่งพันบาท ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษี และให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่จะให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยปฏิบัติตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๘๖/๙๑๑ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วแต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘๒/๙ ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ให้ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
ใบเพิ่มหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(๑) คำว่า “ใบเพิ่มหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(๒) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๖ วรรคสี่ หรือมาตรา ๘๖/๒ ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
(๓) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(๔) วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้
(๕) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิมรวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่างนั้น
(๖) คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้
(๗) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
ให้นำมาตรา ๘๖/๔ วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้ถือว่าใบเพิ่มหนี้ตามมาตรานี้เป็นใบกำกับภาษี
มาตรา ๘๖/๑๐๑๒ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วแต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงเพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘๒/๑๐ ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็ให้ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
ใบลดหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(๑) คำว่า “ใบลดหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(๒) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา ๘๖ วรรคสี่ หรือมาตรา ๘๖/๒ ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
(๓) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(๔) วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้
(๕) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้น
(๖) คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้
(๗) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
ให้นำมาตรา ๘๖/๔ วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้ถือว่าใบลดหนี้ตามมาตรานี้เป็นใบกำกับภาษี
มาตรา ๘๖/๑๑๑๓ ในกรณีที่มีการขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ หรือเพราะอธิบดีสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียน อธิบดีจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการนั้นออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการก็ได้ แต่ผู้รับอนุญาตดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๘๖/๑๒๑๔ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้จัดทำใบกำกับภาษีหรือใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้แล้ว ต่อมาหากได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
ใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ ให้มีรายการเช่นเดียวกับใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ แล้วแต่กรณี โดยให้มีข้อความระบุไว้ในที่ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นใบแทนและออกเพื่อแทนใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ฉบับใด
มาตรา ๘๖/๑๓๑๕ ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้
บุคคลใดออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย บุคคลนั้นต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
มาตรา ๘๖/๑๔๑๖ ใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้สำหรับการรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๓/๖ หรือตามมาตรา ๘๓/๗ และใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรหรือกรมสรรพสามิตออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากรตามมาตรา ๘๓/๑๐ (๑) หรือ (๒) ให้ถือเป็นใบกำกับภาษี
๑ มาตรา ๘๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๒ มาตรา ๘๖/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๓ มาตรา ๘๖/๑ (๑/๑) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ. ๒๕๖๔
๔ มาตรา ๘๖/๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๕ มาตรา ๘๖/๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๖ มาตรา ๘๖/๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๗ มาตรา ๘๖/๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๘ มาตรา ๘๖/๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๙ มาตรา ๘๖/๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๐ มาตรา ๘๖/๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๑ มาตรา ๘๖/๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๒ มาตรา ๘๖/๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๓ มาตรา ๘๖/๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๔ มาตรา ๘๖/๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๕ มาตรา ๘๖/๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๖ มาตรา ๘๖/๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔