My Template

ส่วนที่ ๑๔ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๙๐ - ๙๐/๕)

 

ส่วนที่ ๑๔
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๙๐  บุคคลดังต่อไปนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
              
(๑) ผู้ไม่จัดส่งสำเนาสัญญาหรือเอกสารตามมาตรา ๗๗/๔ (๒)
              
(๒) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา ๘๓ หรือมาตรา ๘๓/๑
              
(๓) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา ๘๓/๒
               (๔) ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา
๘๓/๓
              
(๕) ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๓/๕ มาตรา ๘๓/๖ หรือมาตรา ๘๓/๗
              
(๖) ผู้นำเข้าไม่ยื่นใบขนสินค้าตามมาตรา ๘๓/๘ หรือมาตรา ๘๓/๙
              
(๗) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๖
              
(๘) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่คืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๗ วรรคสาม มาตรา ๘๕/๘ วรรคสอง มาตรา ๘๕/๑๕ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๕/๑๗ วรรคสอง
              
(๙) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการย้ายสถานประกอบการตามมาตรา ๘๕/๘ วรรคหนึ่ง
              
(๑๐) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการหยุดประกอบกิจการชั่วคราวตามมาตรา ๘๕/๑๒
              
(๑๑) ผู้ครอบครองทรัพย์มรดก ผู้จัดการมรดก หรือทายาทของผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่คืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๑๖ วรรคสามหรือวรรคห้า
              
(๑๒) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๘๖/๔ มาตรา ๘๖/๕ มาตรา ๘๖/๖ มาตรา ๘๖/๗ มาตรา ๘๖/๙ มาตรา ๘๖/๑๐ หรือมาตรา ๘๖/๑๑
              
(๑๓) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ ตามมาตรา ๘๖/๑๒
              
(๑๔) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา ๘๗
              
(๑๕) ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงานโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๘๗ หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๘๗/๑
              
(๑๖) ผู้ประกอบการจดทะเบียนจงใจไม่เก็บและรักษาใบกำกับภาษี หรือสำเนาใบกำกับภาษี หรือเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๘๗/๓

               มาตรา ๙๐/๑  บุคคลดังต่อไปนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
              
(๑) ตัวแทนละเลยไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรตามมาตรา ๘๕/๒
              
(๒) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แสดงใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๔
               (๓) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมหรือปิด
สถานประกอบการตามมาตรา ๘๕/๗ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง
              
(๔) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการโอนกิจการบางส่วนหรือการรับโอนกิจการตามมาตรา ๘๕/๑๓
              
(๕) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการเลิกหรือการโอนกิจการทั้งหมดตามมาตรา ๘๕/๑๓ หรือมาตรา ๘๕/๑๕ วรรคหนึ่ง
              
(๖) ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักรจัดทำรายงานโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๘๗/๒

               มาตรา ๙๐/๒  บุคคลดังต่อไปนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              
(๑) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๒/๑๘ (๒)
              
(๒) ผู้ประกอบการใดซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๕/๑ มาตรา ๘๕/๑๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๕/๑๔
               (๓) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่จัดทำใบกำกับภาษีหรือสำเนาใบกำกับภาษีหรือจัดทำแล้วไม่ส่งมอบให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการตามมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง หรือไม่จัดทำใบกำกับภาษี
หรือสำเนาใบกำกับภาษีและไม่ส่งมอบให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการตามที่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเรียกร้องตามมาตรา ๘๖/๘ วรรคสอง
              
(๔) ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวออกใบกำกับภาษีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๘๖ วรรคสอง
              
(๕) ตัวแทนออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๘๖ วรรคสี่
              
(๖) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา ๘๖/๖ วรรคหก
              
(๗) ผู้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๘๘/๔

               มาตรา ๙๐/๓  บุคคลดังต่อไปนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              
(๑) ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักรออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิตามมาตรา ๘๖/๒ วรรคสอง
              
(๒) ผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินโดยไม่ได้รับอนุมัติตามมาตรา ๘๖/๖ วรรคหก หรือมาตรา ๘๖/๗
              
(๓) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่จัดทำรายงานตามมาตรา ๘๗ หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๘๗/๑
               (๔) ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักรไม่จัดทำรายงานตามมาตรา ๘๗/๒
              
(๕) ผู้ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานประเมินหรือขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๘๘/๓ วรรคหนึ่ง

               มาตรา ๙๐/๔  บุคคลดังต่อไปนี้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท
              
(๑) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกเอกสารดังกล่าวตามมาตรา ๘๖ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๖/๑
              
(๒) ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักรโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิตามมาตรา ๘๖/๒ วรรคหนึ่ง
              
(๓) ผู้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิจะออกเอกสารดังกล่าวตามมาตรา ๘๖/๑๓
              
(๔) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ลงรายการหรือลงรายการเป็นเท็จในรายงานตามมาตรา ๘๗ หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๘๗/๑
              
(๕) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ หรือใบแทนเอกสารดังกล่าว
              
(๖) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน
              
(๗) ผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี

               มาตรา ๙๐/๕  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย


               มาตรา ๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๙๐/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๙๐/๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๙๐/๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๙๐/๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔
               มาตรา ๙๐/๔ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๑) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๐